คู่มือซื้อรองเท้าวิ่ง : มารู้จักกับส่วนต่างๆ ของรองเท้าวิ่งกันเถอะ

คู่มือซื้อรองเท้าวิ่ง

มารู้จักกับส่วนต่างๆ ของรองเท้าวิ่งกันเถอะ

เคยมั้ยเวลาเข้าร้านหรือเลือกซื้อรองเท้าวิ่งครั้งแรกแล้วรู้สึกมึนกับศัพท์แสงที่มีมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะทั้งจากพนักงานที่ช่วยแนะนำรองเท้า หรือเหล่านักรีวิวทั้งหลายที่มีมากมายบนโลกออนไลน์ แต่ละคนก็เรียกตรงนั้นแบบไทยบ้าง ตรงนี้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษบ้าง แล้วแต่ความถนัดกันไป หรือต่อให้เรารู้แล้วว่าส่วนไหนเรียกว่าอะไร แต่เราก็ยังไม่รู้ถึงความสำคัญของส่วนต่าง ๆ อยู่ดี 

บทความนี้ ร้านรองเท้าวิ่ง REV Online Store ขอพาเพื่อนนักวิ่งทุกคนไปรู้จักส่วนประกอบต่าง ๆ ของรองเท้าวิ่ง ทั้งชื่อที่เรียกเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และเคล็ดลับการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งที่เราสามารถใช้การพิจารณาจากส่วนประกอบต่าง ๆ บนรองเท้ากันครับ สามารถดูตามภาพประกอบบทความ

Upper หรือ หน้าผ้า

เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ด้านบนของรองเท้าวิ่ง ทำหน้าที่ห่อหุ้มเท้าส่วนบนของเรา โดยมีวัสดุหลักเป็นผ้ารูปแบบต่าง ๆ การออกแบบหน้าผ้าที่ดีจะต้องช่วยให้เท้าของผู้สวมใส่รู้สึกสบาย มีการระบายอากาศและเหงื่อได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเราจะเห็นเทคนิคการทำหน้าผ้าที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละรุ่น เช่น Engineered Mesh, Jacquard Mesh, หรือ Knit เป็นต้น และบ่อยครั้งที่เราจะเห็นการเสริมโครงสร้างหน้าผ้าของรองเท้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีการปริ้นท์แถบ TPU ลงบนหน้าผ้าอีกที เผื่อเสริมรูปทรงของรองเท้า และช่วยเรื่องความทนทาน

Collar หรือ ส่วนกระชับข้อเท้า

เป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับรอบข้อเท้าและตาตุ่มของเรามากที่สุด ถ้าออกแบบหรือเลือกมาไม่ถูกกับเรา ตรงนี้จะเกิดอาการที่เรียกว่า รองเท้ากัด บ่อยมาก รองเท้าที่เน้นความสบายในการสวมใส่ จะออกแบบให้ส่วนนี้มีการบุด้านในให้มีความนุ่มสบาย หรือบางรายก็ใช้เป็น memory foam ก็มีนะ กลับกัน สำหรับรองเท้าที่เน้นการทำความเร็ว จะออกแบบส่วนนี้ให้มีความบางเข้าว่า เพื่อการลดน้ำหนักและพื้นที่ที่ไม่จำเป็นออกไป อันนี้อยู่ที่การใช้งานเลย

Tongue หรือ ลิ้นรองเท้า

ส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับ Collar ในแง่ของการออกแบบ กล่าวคือ ถ้าเน้นความสบาย ก็ใช้วัสดุบุนุ่ม ถ้าเน้นความเร็วคล่องตัว ก็ใช้ผ้าที่มีความบางและยืดหยุ่นเป็นหลัก ลิ้นรองเท้ามีส่วนช่วยในเรื่องสำคัญหลายอย่าง เช่น การรองรับการเสียดสีที่เกิดจากเชือกรองเท้า และทำหน้าที่เป็นตัวช่วยกระชับบริเวณกลางเท้า และเราอาจพบลักษณะของลิ้นรองเท้าได้ทั้งแบบ สมมาตร (symmetric) และ ไม่สมมาตร (asymmetric) ที่เฉียงรับไปกับรูปเท้า

Laces หรือ เชือกรองเท้า

เช่นกับกับ Collar และ Tongue เชือกรองเท้าจะมีทั้งแบบหนานุ่ม สำหรับรองเท้าวิ่งที่เน้นความสบายและการรองรับ และเชือกรองเท้าแบบบางสำหรับสายทำความเร็ว โดยในแบบหลังมักจะใช้เนื้อผ้าที่อยากต่อการเกิดเชือกหลุดมากเป็นพิเศษ แน่นอนว่าเชือกรองเท้า ต้องทำงานควบคู่กับแถบรูร้อยเชือก (Eye-row) ได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างความกระชับเข้ากับเท้าของผู้สวมใส่ ดังนั้นในจุดนี้ก็มักจะเป็นจุดที่ได้รับความพิถีพิถันในการออกแบบเป็นพิเศษเช่นกัน

Toebox หรือ พื้นที่ช่วงนิ้วเท้า

รองเท้าหน้ากว้างหรือแคบ ตัดสินกันที่ตรงนี้ รองเท้าแต่ละรุ่นถูกออกแบบโดยการขึ้นทรง (lasting) ที่แตกต่างกัน มันจึงสำคัญไม่น้อยที่การซื้อรองเท้าวิ่งครั้งแรกควรจะได้ลองสวมใส่ดูก่อน เราอาจเห็นรองเท้าวิ่งที่เน้นการทำความเร็วมักมีพื้นที่หน้าเท้าที่ค่อนข้างแคบ เล็กและเรียว แต่ในขณะที่รองเท้าสำหรับการวิ่งสบาย ๆ ทั่วไป ที่ตอบโจทย์การรองรับและซัพพอร์ท จะมาพร้อมห้องโดยสารของนิ้วเท้าทั้งห้าที่กว้างขวาง ใส่แล้วรู้สึกสบายมากกว่า อ้อ! ที่สำคัญคือ การซื้อรองเท้า เราต้องเผื่อพื้นที่ช่วง Toebox เสมอ ประมาณ 1.5 – 2 ซม. จากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด จนถึงขอบด้านหน้ารองเท้า

Heel Counter หรือ ส่วนกระชับส้นเท้า

สำหรับส่วนนี้ บางที่ก็เรียก Heel Cup ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระชับช่วงส้นเท้าให้มีความมั่นคงขณะวิ่ง ในรองเท้าประเภทเน้นแข่งขันทำความเร็ว ส่วนนี้จะถูกใส่เข้ามาน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพื่อความคล่องตัว แต่ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นวิ่งและมองหารองเท้าที่ช่วยในการรองรับจริง ๆ แล้วล่ะก็ Heel Counter มีความสำคัญมากเลย ในแง่ของการที่ทำให้ช่วงส้นเท้าอยู่ในทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างที่ถูกที่ควรครับ การออกแบบ Heel Counter โดยทั่วไปในท้องตลาดจะมีแบบหลัก ๆ คือ แบบด้านนอก (External Heel Counter) และแบบด้านใน (Internal Heel Counter) เป็นต้น

Midsole หรือ พื้นกลาง

ส่วนนี้ขอยกให้เป็นพระเอกของส่วนประกอบรองเท้าเลย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการรองรับเท้าของเราขณะมีการวิ่ง จนมีการกล่าวกันว่า รองเท้าวิ่งจะดีหรือไม่ดี จะมีราคาถูกหรือแพง ตัดสินกันที่ Midsole เป็นส่วนใหญ่ โดยวัสดุของ Midsole หรือพื้นกลาง จะมีพื้นฐานมาจากวัสดุที่เรียกว่า EVA (Ethylene Vinyl Acetate) หรือโฟมเนื้อยางที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะนำวัสดุ EVA ไปพัฒนา คิดค้น ผสมสูตรต่อยอดออกไปต่าง ๆ นา ๆ เกิดเป็นเทคโนโลยีพื้นกลางที่มีชื่อเรียกแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่นโฟม PWRRUN (อ่านว่า พาวเวอร์รัน) ที่เป็นโฟมพื้นกลางมาตรฐานของ Saucony ที่ถ้ามีสูตรอัพเกรดขึ้นมา ก็จะเป็น PWRRUN+ และ PWRRUN PB ที่เหนือขั้นกว่า ชนิดที่ว่ารู้สึกได้ถึงความ เบา นุ่ม เด้ง อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากเราเห็นรองเท้าที่หน้าตาใกล้เคียงกัน แต่ราคาแตกต่างกันมาก ก็สามารถอนุมานได้เลยว่า มีความเป็นไปได้ที่รองเท้าวิ่งคู่ที่แพงกว่า จะใช้วัสดุพื้นกลางที่ดีกว่าครับ

Outsole หรือ พื้นนอก

คือส่วนที่มีการสัมผัสกับพื้นถนนมากที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 2 สิ่งก็คือ ความทนทาน และการยึดเกาะ ซึ่งไม่มีวัสดุไหนจะให้ได้มากไปกว่า ยางอีกแล้ว แต่คุณสมบัติของยางก็มีข้อดีและข้อเสียที่ชัดเจนครับ ถ้ารองเท้าคู่ไหนที่ต้องการความทนทานมากเป็นพิเศษ การออกแบบก็จะใส่พื้นนอกที่เป็นยางเข้ามามาก แต่ก็จะเกิดผลในเรื่องของน้ำหนักที่อาจจะมากตามมาครับ

Flex Grooves หรือ ร่องดอกยาง

ส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นนอกครับ ถ้าเรานำพื้นยางเรียบ ๆ มาแปะบนพื้นนอกรองเท้า ก็คงจะเดาออกว่าลื่นหัวแตกตั้งแต่ก้าวแรกแน่ ๆ ดังนั้นการออกแบบร่องบนพื้นยาง หรือที่เราเรียกว่า Flex Grooves จึงมีความจำเป็นมาก เหมือนล้อรถยนต์ที่ต้องมีดอกยางครับ การออกแบบร่องดอกยาง ไม่ใช่แค่การทำให้มีร่องเฉย ๆ เพราะถ้าออกแบบมาดี คำนวณจุดที่เหมาะสม จะส่งผลให้การสวมใส่รองเท้าคู่นั้นมีความยืดหยุ่นที่ดีในการวิ่งด้วยครับ


หวังว่าเพื่อนนักวิ่งที่เข้ามาใหม่ ๆ จะได้รับประโยชน์จากบทความนี้นะครับ และถ้าใครกำลังมองหารองเท้าวิ่งที่ตอบโจทย์การรองรับแรงกระแทก เหมาะสำหรับการวิ่งระยะใกล้และไกล บนถนนก็ได้ บนลู่ก็ดี วันนี้เราขอแนะนำ Saucony รุ่น Triumph 19 รองเท้าวิ่งอัพเดทใหม่ที่มาพร้อมพื้นกลาง PWRRUN+, หน้าผ้า Engineered Mono-Mesh, และพื้นยางนอกที่เน้นความทนทานอย่าง XT-900 หาซื้อออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่  ร้านรองเท้าวิ่ง REV Online Store ครับ

ติดต่อเราได้ที่
Line: คลิกเพิ่มเพื่อน
Facebook : https://www.facebook.com/sportsrev.th